การประมาณค่า
การประมาณค่า
การประมาณ เป็นการบอกขนาด จำนวน หรือปริมาณ ที่ไม่ต้องการละเอียดถี่ถ้วน เป็นเพียงการคาดคะเนจำนวนหรือปริมาณด้วยสายตาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องวัด เครื่องคำนวณ หรือการนับแต่อย่างใด เช่นถ้าเราอยากทราบว่ามีไก่กี่ตัวในเล้า มีมะนาวกี่ลูกอยู่ในตะกร้า หากเราต้องการรายละเอียดเราจำเป็นจะต้องเอาออกมานับดู แต่หากเวลามีจำกัดหรือไม่ต้องการละเอียดมากนักเราก็ ใช้สายตากะเอาแล้วบอกจำนวนคร่าว ๆว่ามีมากน้อยเพียงใด
การบอกจำนวนใด ๆ โดยวิธีการประมาณค่า นั้นเรามักนิยมบอกเป็นจำนวนใกล้เคียงจำนวนเต็มเช่น จำนวนสิบ จำนวนเต็มร้อย จำนวนเต็มพัน จำนวนเต็มหมื่น จำนวนเต็มแสน จำนวนเต็มล้าน ฯลฯ เป็นต้น
การบอกจำนวนใด ๆ โดยวิธีการประมาณค่า นั้นเรามักนิยมบอกเป็นจำนวนใกล้เคียงจำนวนเต็มเช่น จำนวนสิบ จำนวนเต็มร้อย จำนวนเต็มพัน จำนวนเต็มหมื่น จำนวนเต็มแสน จำนวนเต็มล้าน ฯลฯ เป็นต้น
การปัดเศษ
วิธีปัดเศษเป็นวิธีหนึ่งของการประมาณค่าเพื่อหาค่าประมาณ
1. การปัดเศษเมื่อปริมาณเป็นจำนวนเต็ม
เมื่อปริมาณที่ต้องการปัดเศษ เป็นจำนวนเต็มอยู่แล้ว เราสามารถปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มสิบ จำนวนเต็มร้อย จำนวนเต็มพัน ... ได้ตามที่ต้องการ
การปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มสิบที่ใกล้เคียงที่สุดทำได้โดยพิจารณาที่เศษของสิบ ถ้าเศษของสิบมีค่าน้อยกว่า 5 ให้ตัดทิ้ง แต่ถ้าเศษของสิบที่มีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ให้ปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็มสิบ เช่น
1, 342 ปัดเศษเป็นจำนวนเต็มสิบได้ 1,340 เนื่องจากเศษของสิบ คือ 2 ซึ่งน้อยกว่า 5 ให้ตัดทิ้ง
1,345 ปัดเศษเป็นจำนวนเต็มสิบได้ 1,350 เนื่องจากเศษของสิบ คือ 5 พอดีจึงปัดเศษขึ้นไปเป็นจำนวนเต็มสิบ
1,347 ปัดเศษเป็นจำนวนเต็มสิบได้ 1,350 เนื่องจากเศษของสิบ คือ 7 ซึ่งมากกว่า 5 จึงปัดเศษขึ้นไปเป็นจำนวนเต็มสิบ
ในทำนองเดียวกัน การปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มร้อยที่ใกล้เคียงที่สุดทำได้โดยพิจารณาเศษของร้อย ถ้าเศษของร้อยมีค่าน้อยกว่า 50 ให้ตัดทิ้ง แต่ถ้าเศษของร้อยมีค่าตั้งแต่ 50 ขึ้นไป ให้ปัดขึ้นเป็นจำนวน เต็มร้อย เช่น
1,340 ปัดเศษเป็นจำนวนเต็มร้อยได้ 1,300 เนื่องจากเศษของร้อย คือ 40 ซึ่งน้อยกว่า50 จึงตัดทิ้งไป
1,370 ปัดเศษเป็นจำนวนเต็มร้อยได้ 1,400 เนื่องจากเศษของร้อย คือ 70 ซึ่งมากกว่า50 จึงปัดเศษขึ้นไปเป็นจำนวนเต็มร้อย
การปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มในหลักใดๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยพิจารณาเลขโดดในหลักถัดไปทางขวามือของหลักที่ต้องการปัดเศษ ถ้าเลขโดดนั้นน้อยกว่า 5 ให้ตัดเศษของหลักทิ้ง แต่ถ้า เลขโดดนั้นตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ให้ปัดเศษขึ้นไปเป็นจำนวนเต็มของหลักนั้น
ตัวอย่าง จงปัดเศษ 35,477 ให้เป็นจำนวนเต็มสิบและจำนวนเต็มร้อย
วิธีทำ ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 35,477 ให้เป็นจำนวนเต็มสิบ คือ 35,480
ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 35,477 ให้เป็นจำนวนเต็มร้อยคือ 35,500
2. การปัดเศษเมื่อปริมาณเป็นทศนิยม
เมื่อกำหนดปริมาณหรือจำนวนในรูปทศนิยม เราสามารถหาค่าประมาณโดยวิธีการปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มหรือเป็นทศนิยมตำแหน่งต่างๆ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกันการปัดเศษเมื่อปริมาณเป็นจำนวน นั่นคือ พิจารณาเลขโดดที่อยู่ถัดไปทางขวาของตำแหน่งที่ต้องการปัดเศษ ถ้ามีค่าน้อยกว่า 5 ให้ตัดทิ้ง แต่ถ้ามีค่ามากกว่า5 ขึ้นไปให้ปัดขึ้น
ตัวอย่าง จงปัดเศษจำนวนที่กำหนดให้ต่อไปนี้ ให้เป็นทศนิยมสองตำแหน่ง และทศนิยมสามตำแหน่ง
วิธีทำ 1) ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 0.3579 ให้เป็นทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 0.36
ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 0.3579 ให้เป็นทศนิยมสามตำแหน่ง คือ 0.358
2) ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 12.6639 ให้เป็นทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 12.66
ค่าประมาณจากการปัดเศษของ 12.6639 ให้เป็นทศนิยมสามตำแหน่ง คือ 12.664
การนำการประมาณค่าไปใช้
การตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถนำเอาวิธีการประมาณค่ามาใช้ช่วยในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว การประมาณค่าไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความเป็นจริง รวมทั้งการยอมให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด ในบางสถานการณ์ เรายอมให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก เช่น การประมาณระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ว่าประมาณ 93 ล้านไมล์หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร เนื่องจากระยะทางไกลมาก แต่บางกรณีถ้าเกิดความคลาดเคลื่อนอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ทางด้านการแพทย์ การคำนวณปริมาณยาที่จะให้กับผู้ป่วย ถ้าใช้การประมาณค่าอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น